top of page
Search

วิธีตั้งชื่อเรื่องวิจัยให้โดดเด่นและน่าสนใจ: เคล็ดลับการตั้งชื่อหัวข้อวิจัยอย่างมืออาชีพ

  • Writer: Chupasireen A Fredregill, Ph.D.Public Health
    Chupasireen A Fredregill, Ph.D.Public Health
  • May 22
  • 1 min read

Updated: May 25

บทนำ

ชื่อเรื่องของงานวิจัย เปรียบเสมือนหน้าตาของเรา ที่เป็นสิ่งแรกที่สร้างแรงดึงดูดใจ ให้ผู้อ่านและนักวิจัยมีความสนใจ และติดตามอ่านโครงร่างวิจัย/วิทยานิพนธ์ รวมถึงผลงานวิจัยของเราต่อไป ดังนั้นการตั้งชื่อหัวข้อวิจัยที่ดี ควรจะสามารถสร้างแรงดึงดูดใจตั้งแต่แรกเห็น และสื่อสารความหมายหลักได้อย่างชัดเจนและครบถ้วน

คุณลักษณะของชื่อเรื่องวิจัยที่ดี (ภาพรวม)

ชื่อเรื่องวิจัย สามารถคาดการณ์ได้ว่าผู้วิจัยจะใช้รูปแบบการวิจัย (Research Design)อะไร ต้วแปรในการวิจัยคืออะไร ใช้ทฤษฎีอะไรรองรับในการศึกษา ใช้สถิติอะไรในการวิเคราะห์ข้อมูล และพื้นที่ในการศึกษาเป็นอย่างไร ดังนั้นชื่อเรื่องวิจัยที่ดีควรประกอบด้วยคุณลักษณะ ดังนี้

  • กระชับและตรงประเด็น: ควรสั้นแต่เต็มไปด้วยความหมาย ไม่ควรยาวเกินไปจนทำให้ผู้อ่านสับสน คำที่เลือกใช้ควรครอบคลุมเนื้อหาหลักของงานวิจัย

  • ชัดเจนและเข้าใจง่าย: คำศัพท์และวลีควรเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อนเกินไป เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจเนื้อหาได้ในทันที

  • ใช้คำหลัก (Keywords) ที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อวิจัย ช่วยให้งานวิจัยของเราเป็นที่รู้จักและค้นหาได้ง่ายขึ้น

  • สื่อสารเนื้อหาได้ตรงประเด็น: ชื่อเรื่องควรสะท้อนคำถามหรือปัญหาหลักที่งานวิจัยจะตอบ เพื่อให้ผู้อ่านทราบว่าผลงานนี้เกี่ยวกับอะไร

  • น่าสนใจและดึงดูดความสนใจ: ใช้คำที่อ่านแล้วมีความทันสมัยในยุคปัจจุบัน

  • หลีกเลี่ยงคำซ้ำซากหรือคำที่ไม่จำเป็น เช่น “การศึกษาเกี่ยวกับ,” “การวิเคราะห์,” เพราะอาจทำให้ชื่อดูยาวและไม่น่าสนใจ

การตั้งชื่อเรื่องวิจัยที่ถูกต้องตามหลักทางวิชาการ

เพื่อให้ชื่อเรื่องวิจัยของคุณ มีความเป็นวิชาการ ดึงดูดให้ผู้อ่านมีความสนใจ น่าติดตาม และเป็นที่ยอมรับตั้งแต่ครั้งแรก ชื่อเรื่องวิจัยควรประกอบด้วยการสื่อความหมายถึงองค์ประกอบ ต่อไปนี้:

  • รูปแบบการวิจัย เช่น

    - ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับ.....

    - ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อ.....

    - ประสิทธิผลของ.....

    - มิติทางสังคมวัฒนธรรม.....

     - การพัฒนารูปแบบ.....

    - การประเมิน....

  • ปัญหาหลัก ที่งานวิจัยต้องการคำตอบ เช่น

    - ความรอบรู้ด้านสุขภาพ.....

    - พฤติกรรมสุขภาพ.....

    - การป้องกันโรค.....

    - การตรวจคัดกรอง.....

    - ระบบการเฝ้าระวังโรค.....

  • ประชากร/ กลุ่มตัวอย่าง เช่น

    - ผู้สูงอายุ

    - นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย

    - ประชาชน

    - สตรีอายุ 30-59 ปี

    - เกษตรกรปลูกผัก

  • ทฤษฎีที่นำมาประยุกต์ใช้ (ในกรณีที่ต้องการนำเสนอทฤษฎีหลักที่นำมาใช้ เช่นการวิจัยเชิงทดลอง และการวิจัยปฎิบัติการ ฯลฯ) เช่น

    - ความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy)

    - การรับรู้ความสามารถตนเอง (Self Efficacy)

    - แบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ (Health Belief Model)

    - การจัดการตนเอง (Self Management)

    - การเสริมสร้างพลังอำนาจ (Empowerment)

  • พื้นที่ทำวิจัย การระบุพื้นที่ทำวิจัย ขึ้นอยู่กับรูปแบบการวิจัย และการพิจารณาด้านจริยธรรม

    • การวิจัยที่มีการระบุพื้นที่ทำวิจัย ได้แก่

    - การวิจัยเชิงพรรณนา การวิจัยเชิงความสัมพันธ์ การวิจัยเชิงสาเหตุ การวิจัยเชิงปฏิบัติการ และการวิจัยประเมินผล

    • การวิจัยที่ (ส่วนใหญ่)ไม่ระบุพื้นที่ทำวิจัย ได้แก่ การวิจัยเชิงทดลอง

    • การวิจัยที่ค่อนข้างมีความเปราะบางต่อการเปิดเผยข้อมูล เช่น การวิจัยเชิงคุณภาพอาจจะมีการหลีกเลี่ยงการระบุพื้นที่วิจัย เป็น กรณีศึกษาชุมชนแห่งหนึ่ง ใน......แทน

ตัวอย่างชื่อเรื่องวิจัยที่ดี

ตัวอย่างชื่อเรื่องที่น่าสนใจและชัดเจน:

  • การสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 7 พ.ศ. 2567-2568 (ไม่ระบุพื้นที่วิจัย เนื่องจากชื่อเรื่องมีความชัดเจน สามารถสื่อความหมายถึงพื้นที่การวิจัยได้)

  • ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้สูงอายุ จังหวัดอุบลราชธานี

  • อิทธิพลของความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตต่อภาวะซึมเศร้าของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาในอำเภอแห่งหนึ่ง จังหวัดนครราชสีมา (หลีกเลี่ยงการระบุพื้นที่วิจัยโดยตรง)

  • ประสิทธิผลของโปรแกรมการประยุกต์ใช้แบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพในการส่งเสริมการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเองของสตรีอายุ 30-59 ปี (ไม่ระบุพื้นที่วิจัย)

  • การพัฒนารูปแบบการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านยาในร้านชำในชุมชน ตำบลหัวทะเล อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

  • ประสบการณ์การดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีและครอบครัว (ไม่ระบุพื้นที่วิจัย)

  • การประเมินผลโครงการ อย.ร่วมใจ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สู่กรมสุขภาพดี (อย.Fit & Firm) (ไม่ระบุพื้นที่วิจัย เนื่องจากชื่อเรื่องมีความชัดเจน สามารถสื่อความหมายถึงพื้นที่การวิจัยได้)


สรุป

  • การตั้งชื่อหัวข้อวิจัยเป็นขั้นตอนสำคัญที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์และความเข้าใจเนื้อหาอย่างลึกซึ้ง ควรเน้นคำหลักที่เกี่ยวข้องและสร้างความน่าสนใจ ถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อให้มีชื่อเรื่องที่โดดเด่น และง่ายต่อการค้นหา การเลือกชื่อเรื่องที่ดีจะช่วยดึงดูดผู้อ่านและสร้างความประทับใจแรกที่ดีในงานวิจัยของคุณ

  • ท่านสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน E-Book เรื่องคัมภีร์นักวิจัย ในยุคดิจิทัล (The Researcher's Handbook in the Digital Age) โดย ดร.ชุภาศิริ อภินันท์เดชา (Chupasireen A Fredregill, Ph.D. Public Health)




 
 
 

コメント


bottom of page